Snow tiger..technology and innovation must be your next trade for export or not?or you invest only SET?
10 ตุลาคม 2556
เคแบงค์ชี้อาเซียนยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนจากนายทุนทั่วโลก แนะควรศึกษาตลาดแต่ละประเทศให้ดีก่อนเข้าไปลงทุน
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาเซียนยังเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงในระยะยาว ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จีดีพีของอาเซียนในปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 4.7-5.3% โดยมีกรณีฐานที่ 5.1% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.9-4.2%
“ปัจจุบันทุกประเทศในอาเซียนต่างแข่งขันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป และจีน โดยแต่ละประเทศก็มีข้อได้เปรียบและความพร้อมที่ไม่เท่ากัน โดยปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ ค่าแรงที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ การเปิดกว้างของนโยบายการลงทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากนักลงทุนภายในกลุ่มอาเซียนยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญ โดยคิดเป็น 23%ของการลงทุนทั้งหมดในปี 2554 ส่วนการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนนอกกลุ่มอาเซียนมีความหลากหลายในอุตสาหกรรมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีความพร้อมในการรองรับห่วงโซ่ (Chain) การผลิตทั้งกระบวน ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิต (Production Hub) ที่สำคัญของโลก” นายทรงพลกล่าว
สำหรับประเทศที่เป็นฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเน้นที่ 3 อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล ข้าวโพด, อุตสาหกรรมพลังงานและแร่ธาตุ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอ รองเท้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 5% รวมทั้งมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการค้าชายแดน และด้านการขนส่ง ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางของอาเซียนตอนบน ซึ่งการค้าชายแดนกับประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นที่เฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยคาดว่าจะมียอดค้าชายแดนที่ 540,000 ล้านบาทในปี 2558
ทั้งนี้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของไทย ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและผลิต ซึ่งจะยังคงการผลิตและการจัดการในไทย แต่จะเพิ่มฐานการผลิตในประเทศอื่นอีกหนึ่งประเทศ โดยมีประเทศเป้าหมายได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า
“ผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องการย้ายฐานการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและการแข่งขันในตลาด ไม่ว่าจะย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน โดยการนำเทคโนโลยีจากประเทศไทยเข้าไปใช้ นอกจากนี้ มุมมองในการทำธุรกิจควรมีการปรับเปลี่ยน โดยใช้ฐานการผลิตร่วมกันให้เกิดประโยชน์ และมีการปรับให้เข้ากับความเหมาะสมของแต่ละประเทศด้วย โดยการเลือกคู่ค้าหรือผู้ร่วมลงทุนที่ดี เชื่อถือได้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” นายทรงพลกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กาญจนา พาหา บรรณาธิการ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kanchana@ddproperty.com
อัพเดทข่าวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ทางอีเมลส่งตรงจากเว็บไซต์อสังหาฯ อันดับ 1 ของเมืองไทยฟรี สมัครได้ที่นี่
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
No comments:
Post a Comment