กลวิธานในการปรับตัวมีลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. อ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) เป็นการอ้างเหตุผลที่คิดว่าคนอื่นย่อมรับ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง หรือเพื่อให้ตัวเขาสบายใจขึ้น อาจแสดงออกในรูปขององุ่นเปรี้ยวหรือมะนาวหวาน
องุ่นเปรี้ยว เป็นวิธีการที่ทำให้ตนเองหรือคนอื่นเข้าใจว่าสิ่งที่ตนอยากได้ แล้วไม่ได้นั้น ไม่ดี เช่น อยากมีรถเก๋งขี่ แต่ไม่มีก็ปลอบใจตนเองว่าไม่มีดีแล้ว มีแล้วรอจ่ายเพิ่ม หรือเสียค่าดูแลรักษามากขึ้น
มะนาวหวาน ตรงกันข้ามกับองุ่นเปรี้ยว คือการที่บุคคลพยายาามทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าสิ่งที่เราได้นั้นดีเลิศอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงตัวอาจจะไม่ต้องการมาก่อน เช่น สอบเข้าครูได้ ก็บอกใครๆ ว่าครูนี้สอบเข้ายากนะ เป็นแล้วรู้จักคนมาก สังคมยกย่องด้วย เป็นต้น
๒. การปรับตัวแบบหาสิ่งอื่นมาทดแทน (Substitution) เป็นการหาสิ่งอื่นมาชดเชยสิ่งที่ตัวเองขาด ซึ่งมี ๒ ลักษณะได้แก่
๒.๑ การชดเชย (Compensation) เมื่อขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไปหาสิ่งอื่นมาชดเชยเป็นการเปลี่ยนความต้องการหรือเป้าหมายใหม่ เช่น เด็กที่ไม่สวย อาจขยันเรียนเป็นเด็กดีของโรงเรียน เด็กที่เรียนอ่อนอาจจะหันไปฝึกซ้อมด้านกีฬา หรือด้านศิลป์ หรือคนร่างเตี้ยอยากสูง มีวิธีการชดเชยโดยวางท่าใหญ่หรือเสียงดังฟังชัด หรือพูดจาโอ้อวด
๒.๒ การทดแทน (Displacement) วิธีนี้ไม่เปลี่ยนเป้าหมายแต่พยายามหาสิ่งทดแทนอย่างอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับความต้องการเดิมและสิ่งใหม่นี้ตัวเองพอจะหาทางตอบสนองได้ เช่น
คนก้าวร้าว อยากทำร้ายตบตีชกต่อยคนอื่น แต่สังคมไม่ยอมรับก็พยายามหาสิ่งทดแทนที่สังคมยอมรับ เช่น เป็นนักมวย จัดชกมวย เป็นทหาร ตำรวจ เป็นต้น หรือคนอกหัก ก็หาทางระบายด้วยการเขียนนิยายรักรันทดใจ เป็นต้น
๓. การปรับตัวแบบโทษผู้อื่นหรือการโยนบาป (Projection) เป็นการอ้างความผิดของคนอื่นขึ้นมา ลบความผิดของตน เช่น ฉันไม่ได้ ๒ ขั้น เพราะถูกเจ้านายกลั่นแกล้ง หรือเราลอกข้อเดียว แต่คนอื่นลอกการบ้านทุกข้อเลย เป็นต้น
๔. การนับตนเป็นพวกเดียวกับปัญหา (Identification) เป็นทำนองว่าถ้าเอาชนะใครไม่ได้ก็ยอมเป็นพวกเขาแต่โดยดี เช่น
๔.๑ เห็นเขาเก่งกว่าเรา มีความสามารถมากกว่าเราหรือดีกว่าเรา เราอยากเป็นอย่างนั้นบ้าง แต่เป็นไปไม่ได้ จึงใช้วิธีทำตนเป็นพวกเดียวกับเขา เช่น การเอาอย่างบุคคลที่เด่นๆ ในสังคม ในเรื่องกิริยาท่าทาง การแต่งตัวหรือรสนิยม เป็นต้น
๔.๒ การนับตนเป็นพวกเดียวกับใคร เพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก เช่น เด็กอยากให้พ่อแม่รักก็ทำตามอย่างพ่อแม่ ทำตามที่พ่อแม่สอน เป็นต้น
๔.๓ การนับตนเป็นพวกเดียวกับผู้ที่เราเห็นว่าถูกกดขี่ข่มเหง เช่น ประกาศตนเป็นพวกเดียวกับ ชนหมู่น้อยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเข้าข้างผู้แพ้ เพราะตนมีความรู้สึกท้าทายอำนาจอยู่แล้ว
๔.๔ การนับตนเองเป็นพวกเดียวกับใครที่เหมือนเรา ซึ่งมีอยู่ทั่วไป เช่น ชายหญิงที่มีฐานะเสมอกัน มีความสนใจและรู้รสนิยมคล้ายกัน ได้มาพบกันเข้าก็รักกัน แต่งงานกัน เป็นต้น
(ข้อ ๔.๔ นี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล)
๕. ความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการลดความคับข้องใจโดยให้ผู้อื่นได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากความโกรธ เช่น
๕.๑ การก้าวร้าวโดยตรง (Direct Aggression) เป็นการแสดงความก้าวร้าวต่อสิ่งของหรือบุคคลที่ทำให้โกรธหรือคับข้องใจ เช่น การเตะต่อยหรือใช้วาจาพูดให้สะเทือนใจ หรือการฟัน แทง หรือยิงกันจนบาดเจ็บหรือตาย
๕.๒ การก้าวร้าวทางอ้อม (Displaced Aggression) เช่น โกรธครูแล้วตวาดเพื่อน ไม่พอใจแฟนก็ทุบข้าวของแตกหักเสียหาย โกรธเพื่อนบ้านแล้วลักของ หรือทะเลาะกันแล้วจุดไฟเผาบ้านเป็นต้น
๖. การเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ (Reaction Formation) เป็นการปรับตัวแบบหน้าไหว้หลังหลอกโดยที่เจ้าตัวไม่รู้สึก เช่น แม่ที่ปกป้องลูกขนาดหนัก จนลูกช่วยตัวเองไม่เป็นตลอดชีวิต หารู้ไม่ว่าส่วนลึกนั้นชิงชังลูกอย่างเหลือเกิน การตามใจลูกเป็นการแสดงหน้าฉากเท่านั้น
๗. การเก็บกด (Repression) เป็นการปรับตัวโดยการทำเป็นลืม ทำไม่สนใจ ไม่คิด ไม่กังวล พยายามปัดออกไปจากจิตรู้สำนึก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ทำให้เราเดือดร้อน มีความทุกข์ ความละอายหรือความเจ็บปวดหรือเจ็บแน่นแสนสาหัส นานๆ เข้าอาจจะลืมได้ วิธีการแบบนี้บุคคลไม่ได้ระบายความวิตกกังวลเลย ความวิตกกังวลหรือความไม่สบายใจจึงมีอยู่ตลอดเวลา นานๆ เข้าจะทำให้เป็นคนเจ้าทุกข์ เจ้าคิด เจ้าแค้น ไม่มีเวลาสำหรับความรื่นรมย์ใด ๆ ในชีวิตเลย
๘. การปรับตัวแบบถอยกลับ (Regression) เป็นวิธีการที่บุคคลถอยกลับไปใช้ วิธีการแบบเด็กๆ อีก เพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น การดูดนิ้ว (ในเด็กอายุเกิน ๒ ขวบ) หรือการปัสสาวะรดที่นอน (ในเด็กอายุเกิน ๔ - ๕ ขวบ)หรือผู้ใหญ่ที่ทำตนเป็นวัยรุ่น เป็นต้น
๙. การติดชะงัก (Fixation) ปกติคนเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพตามขั้นตอนวัยแตกต่างกันออกไป และคนเราย่อมจะก้าวจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะบรรลุความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่บางคนอายุมากแล้ว แต่ยังติดชะงักอยู่ในวัยเด็กอยู่นั่นเอง เป็นเพราะว่าเขาเกิดความกลัวว่าขั้นต่อไปจะเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น พวกนี้จึงเป็นพวกเลี้ยงไม่รู้จักโต หรือพวกที่เจ้าระเบียบแบบกระดิกตัวไม่ได้ หรือพวกที่ยึดมั่นอยู่กับสิ่งเดียวตลอดชาติ ก็เป็นพวกติดชะงัก เช่นเดียวกัน
๑๐. การสร้างจุดเด่นให้แก่ตนเอง (Geocentricism) เกิดแก่บุคคลที่เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น โดยการคุยโอ้อวดความมั่งมี คุยอวดความเก่งกล้าสามารถ หรือแต่งตัวผิดแปลกไปจากคนอื่นหรือพูดจาไม่เหมือนคนอื่น เป็นต้น
๑๑. การปรับตัวแบบต่อต้านหรือปฏิเสธตลอดเวลา (Negativism) เป็นการเรียกร้องความสนใจ และเป็นการแก้แค้นวิธีหนึ่ง เช่น การชอบทำอะไรในสิ่งที่คนอื่นไม่อยากให้ทำ หรือเขาบอกไม่ให้ทำเราจะทำหรือเราจะทำแต่พอเขาบอกให้ทำ กลับไม่ทำเลย
๑๒. การปรับตัวแบบเพ้อฝันหรือฝันกลางวัน (Fantasy or Day dreaming) เป็นการลดความคับข้องใจโดยหนีไปสร้างความสุขโดยการฝันเฟื่อง หรือเหม่อลอยชั่วขณะ ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขชั่วครั้งชั่วคราว
๑๓. การปรับตัวแบบหลบหนี (Withdrawal) เป็นการหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือคนอื่นๆ ชั่วขณะ อาจจะเก็บตัวหรืออาจจะเจ็บป่วยทางร่างกายโดยหาสาเหตุทางกายไม่พบก็ได้ หรืออาจจะหันเขาหาสุรา กัญชาหรือยาเสพติดประเภทต่างๆ ได้
http://www.slideshare.net/baankrumod/asean-3311748
https://sites.google.com/site/educationalpsychology2555/bth-thi-3-khwam-taek-tang-taela-bukhkhl/3-3-kl-withan-ni-kar-prab-ta
No comments:
Post a Comment